มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จับมือ ขสมก. เดินหน้าเปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้า มจธ. และดีเดย์ 7 ธ.ค. ทดลองเดินรถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศสาย ปอ. 138 มุ่งลดการใช้พลังงานการปล่อยมลพิษจากภาพขนส่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับชีวิตคนกรุง และมาตรฐานการผลิตไทย
สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ“การสาธิตและประเมินผลการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้านำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ภายใต้โครงการ “การพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย” ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีดำเนินการร่วมกับ University of Ulsan, Korean Automotive Technology Institute (KATECH) และ บริษัท Edison Motors จำกัด ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกันจาก Korean Energy Technology Evaluation and Planning (KETEP) ประเทศเกาหลีใต้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ให้ความสำคัญต่อการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University โดยมุ่งเน้นการลดการใช้พลังงาน ลดปริมาณขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะจากพลาสติก เพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการเรียนรู้และการทำงาน รวมทั้งการลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัย การเดินรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างวิทยาเขตบางมดและบางขุนเทียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินรถภายใต้โครงการดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการร่วมลดการใช้พลังงานและการปลดปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเดินทางโดยไร้มลพิษให้กับนักศึกษา บุคลากร และชุมชมรอบมหาวิทยาลัย”
มจธ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) และกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เพื่อนำรถโดยสารไฟฟ้าของ บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ส จำกัด จากประเทศเกาหลี จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถขององค์การในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ สาย 137, 36, 73, 204, 138 และสาย 50 เส้นทางละ 1-2 เดือน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ทดลองวิ่งรถโดยสารไฟฟ้าให้บริการแล้วใน 4 เส้นทาง ได้แก่ สาย 137, 36, 73, 204โดยมีการเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าแห่งแรกบริเวณอู่พระราม 9 ขสมก. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


ด้าน นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า “ผลการประเมินด้านการใช้เชื้อเพลิงจากการทดสอบใน 4 เส้นทางล่าสุดถือได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยสรุปพบว่ารถโดยสารไฟฟ้าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเมื่อเปรียบเทียบกับรถโดยสารระบบเครื่องยนต์ดีเซลอย่างมีนัยยะสำคัญ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวถือเป็นประโยชน์ต่อ ขสมก. เพื่อใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณาจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าตามแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ในอนาคตต่อไป”

สถานีอัดประจุไฟฟ้าแห่งที่สองที่มีการเปิดตัวในวันนี้ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีบนถนนประชาอุทิศ ซึ่งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งสามารถอัดประจุด้วยกำลังไฟฟ้าสูงสุด 200 กิโลวัตต์ มีเต้าเสียบแบบ Combo Type 2 จำนวน 2 ชุด สามารถแสดงผลการอัดประจุไฟฟ้าบนจอ LCD ขนาด 8 นิ้ว และมีระบบป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล โดยจะเริ่มเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาย 138 บริการประชาชนในวันที่ 7 ธันวาคมเป็นต้นไปในเส้นทางพระประแดง-หมอชิต 2 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรียังให้บริการเดินรถโดยสารไฟฟ้าคันดังกล่าวระหว่างพื้นที่การศึกษาบางมดและพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียนแก่บุคลากรและนักศึกษาโดยมีระยะทางไปกลับประมาณ 36 กิโลเมตรอีกด้วย

โครงการ “การพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย” ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการมีผู้ประกอบการไทย 4 ราย ได้แก่ บริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท เอกวัตร (1994) จำกัด บริษัท บัส แอนด์ ทรัค จำกัด และบริษัท พีแอลที กรีน จำกัด ให้ความสนใจร่วมโครงการเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีโครงสร้างน้ำหนักเบา อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
กลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
คุณดุจเดือน จารุกะกุล
โทรศัพท์: +66 (0)2 470 8497
อีเมล: dutduan.jar@kmutt.ac.th
คุณพีรพงษ์ ปกรณ์รัศมี
โทรศัพท์: +66 (0)2 470 8414
อีเมล: peerapong.pak@kmutt.ac.th