

ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาเกี่ยวกับสถานีอัดประจุเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาเครื่องอัดประจุ การทำยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ ตลอดจนถึงการวางแผนการพัฒนาด้านระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการกำลังไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยได้ทำการศึกษาและมีผลงานวิจัยในด้านต่าง ๆ ทั้งงานวิจัยที่สำเร็จออกมาสู่สาธารณะและงานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ โครงการการส่งเสริมและพัฒนาที่เกี่ยวกับสถานีอัดประจุของหน่วยงานต่าง ๆ มีดังนี้
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการการพัฒนาเกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุและยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. ได้มีการแบ่งการดำเนินการอยู่ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่
• ด้านวิจัยและนวัตกรรม อาทิ การวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง การพัฒนาการดัดแปลงรถเมล์ใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า โครงการวิจัยการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีศึกษารถรับจ้างสาธารณะในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นต้น
• ด้านส่งเสริมประสิทธิภาพและการใช้งาน อาทิ โครงการนำร่องสาธิตการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า งานพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพสำหรับ EV & Charging Station (รองรับการติดฉลากเบอร์ 5) เป็นต้น
• ด้านพัฒนาธุรกิจ อาทิ โครงการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ งานพัฒนา Application และระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โครงการการพัฒนาเกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุและยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟภ. ได้มีการแบ่งการดำเนินการอยู่ทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่
• การสนับสนุนด้านระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาทิ การปรับปรุงระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่ายแรงสูง เพื่อให้เพียงพอต่อ EV Charging Station ที่จะมีการติดตั้งบนถนนสายหลักและถนนสายรอง
• แผนงานติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA มีการทำแผนงานติดตั้งสถานีอัดประจุตามเป้าหมายของโครงการไว้ทั้งหมด 263 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด ภายในปี 2564
• การพัฒนา PEA VOLTA Platform มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟภ. และจะขยายผลให้สามารถ Roaming กับ Platform ของผู้ประกอบการรายอื่นได้ในอนาคต
• การสนับสนุนอัตรา EV Low Priority กฟภ. ได้มีการสนับสนุนอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดวันเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย
- การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โครงการการพัฒนาเกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุและยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟน. ที่มีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุ มีดังนี้
• Smart Metro Grid เป็นโครงการที่ กฟน. ได้มีการตั้งเป้าหมายในปี 2564 โดยจะติดตั้ง Smart Meter ทั้งหมด 33,265 เครื่อง พร้อมทั้งการทำระบบ Energy Storage เพิ่มใน Substation ปทุมวัน
• MEA Smart Charging System เป็นระบบบริหารจัดการพลังงานสำหรับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
• MEA EV Platform เป็น Mobile Application สำหรับผู้ใช้บริการทั่วไปที่สามารถใช้ค้นหา ดูรายละเอียด จอง และนำทางไปยังสถานีอัดประจุได้ รวมถึงแสดงประวัติการอัดประจุที่ผ่านมา และมี Web Application สำหรับเจ้าหน้าที่ กฟน. และผู้ประกอบการ
• การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า กฟน. มีแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟน. จำนวน 88 สถานี
• อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุแบบ Low Priority กฟน. ได้มีการสนับสนุนการคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดเวลา โดยค่าไฟฟ้าจะคิดในอัตราเท่ากับกิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (TOU) คือ 2.6369 บาทต่อหน่วย
- บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน มีการพัฒนา DC City Charger 50/100 kW เป็นเครื่องอัดประจุแบบเร็ว 1,000 V และการกระจายโหลดแบบไดนามิก ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพถึง 94% และสามารถรองรับหัวจ่ายได้หลากหลาย
- บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีการสร้างเครื่องอัดประจุ ABB Terra 53 โดยได้การติดตั้งเครื่องอัดประจุตามเครือ Central ในชื่อ Central project ติดตั้งภายใต้ชื่อ PEA VOLTA ซึ่งเป็นรุ่น Terra 54 และติดตั้งในสถานีของ กฟผ. ซึ่งเป็นรุ่น Terra 124 จำนวน 5 Unit
- บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด มีการพัฒนาสถานีอัดประจุในรูปแบบต่าง ๆ เช่น AC Charger , DC Charger รวมถึงการพัฒนาสถานีอัดประจุขนาด 4 MW สำหรับเรือไฟฟ้า Mine Smart Ferry และสถานีอัดประจุขนาด 1.5 MW สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า
- บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มีโครงการติดตั้งสถานีอัดประจุตามสถานีเติมน้ำมันเชื้อเพลิงของ ปตท. ซึ่งปัจจุบันได้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุทั้งหมด 89 สถานี และมีแผนที่จะขยายการติดตั้งสถานีอัดประจุให้ครอบคลุมเส้นทางหลักตามทางหลวง ทุก ๆ 100 กิโลเมตร ภายในปี 2564 และจะเพิ่มความถี่ของสถานีอัดประจุให้ได้ทุก ๆ 50 กิโลเมตร ภายในปี 2565-2566
- บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด มีการให้บริการเช่ายานยนต์ไฟฟ้า (EV Car Sharing) เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า (e-Ferry) และการให้บริการรถโดยสารแบบไรด์แชร์ริ่ง (Ride Sharing)
- บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จํากัด มีการทำโครงการ ChargeNow ซึ่งเป็นเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภท Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) และ Battery Electric Vehicle (BEV) และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครบ 100 สถานีทั่วประเทศ
- บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการติดตั้งสถานีอัดประจุแบบเร็ว ภายใต้ชื่อ MG SUPER CHARGE โดยจะสามารถใช้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ทุก ๆ 150 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายในการติดตั้งสถานีอัดประจุ จำนวน 100 แห่ง ภายในเดือนธันวาคม 2563 และมีแผนที่จะขยายสถานี MG SUPER CHARGE เพิ่มอีก 500 แห่ง ภายในปี 2564