ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์, สุทิน ชาญณรงค์, บรรจง เยาว์ธานี, ดร.พีรสา ศาศวัต, คุณวรากร กติกาวงศ์
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
รถตุ๊กตุ๊กไทยเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวในมุมมองของชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าตุ๊กตุ๊กเป็นพาหนะรับจ้างที่มีราคาค่าโดยสารสูงและมีควันจากท่อไอเสีย เสียงดัง ผู้ขับขี่ขับอันตราย แต่ในมุมมองของชาวต่างชาติรถตุ๊กตุ๊กเป็นพาหนะที่ต้องลองนั่งเป็นประสบการณ์ ในปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กไทยมีการส่งออกไปต่างประเทศจำนวนหนึ่ง โดยโครงการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เป็นการจัดทำต้นแบบเพื่อศึกษาปัญหาในการผลักดันอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้กับผู้ประกอบการ การสร้างรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงยังช่วยในการพัฒนาอาชีพใหม่และธุรกิจใหม่ๆ ทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไทยได้อีกด้วย โดยโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์2560 และสามารถสร้างรถตุ๊กตุ๊กต้นแบบเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 25ธันวาคม 2560 และในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเกณฑ์พื้นฐานการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กเครื่องยนต์เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เช่น กำลัง ความเร็ว ขนาด ความกว้าง ความยาวและความสูง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแข่งขันการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในประเทศไทยและเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
ขั้นตอนการดำเนินงาน
การทำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบของสมาคมฯ มีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการโดยมีขั้นตอนทั้งหมด11 ข้อ เพื่อเป็นแนวทาง ให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพของรถตุ๊กตุ๊กรวมถึงงบประมาณที่เหมาะสมในการดัดแปลงด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1 ศึกษาข้อมูลและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
เริ่มศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ผู้ใช้งานรถตุ๊กตุ๊กที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดกําลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยมีรายละเอียดของมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งจะต้องมีกําลังพิกัด (Rated Power) ไม่น้อยกว่า 4กิโลวัตต์ และสามารถขับเคลื่อนรถให้มีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 45กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก (Gross Vehicle Weight) ได้ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที”
2 จัดหารถตุ๊กตุ๊กเพื่อทำต้นแบบ
บริษัท ตุ๊กตุ๊ก 1999จำกัด ได้มอบรถตุ๊กตุ๊กที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวนหนึ่งคันให้สมาคมฯ เพื่อใช้ในการศึกษาการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
3 ตรวจสอบสภาพ
จากการตรวจสอบสภาพรถตุ๊กตุ๊กต้นแบบมีสภาพเก่ามาก ชิ้นส่วนเหล็กกระจังหน้าและกระบะผุมาก สูญเสียความมั่นคงแข็งแรง จำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนเหล่านี้ เพื่อการใช้งานที่ปลอดภัย
4 ปรับปรุงสภาพรถตุ๊กตุ๊ก
ถอดชิ้นส่วนที่เสียหายออก ทำความสะอาดโครงคัสซีและเตรียมสีพื้นกันสนิม และติดตั้งกระบะและกระจังหน้าของรถตุ๊กตุ๊ก แล้วจึงทำสีพื้นเพื่อป้องกันสนิม
5 เลือกมอเตอร์และชุดควบคุม แบตเตอรี่ ให้เหมาะสม




รูปที่ 1 คุณลักษณะของมอเตอร์ ชุดควบคุม แบตเตอรี่และเฟืองท้าย
เลือกมอเตอร์กระแสสลับขนาด 5kW 72V ตามข้อกำหนดของประกาศกรมการขนส่งทางบก ความเร็วรอบ 3000 rpm แรงบิดสูงสุด 15.9 Nm ความเร็วรอบสูงสุด 6000 rpmอัตราทดเฟืองท้าย 1:6.4 ขนาดล้อ 13นิ้ว ทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่า 65 กม./ชม.
6 ออกแบบติดตั้ง มอเตอร์ ชุดควบคุม แบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้า
ในขั้นตอนนี้จะเป็นการออกแบบและทดสอบติดตั้งระบบไฟฟ้า มอเตอร์ ชุดควบคุม และแบตเตอรี่ LiFePo4โดยในการดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าคันนี้ใช้แบตเตอรี่จำนวน2 โมดูล ซึ่งโมดูลที่หนึ่งติดตั้งบริเวณกลางโครงคัสซีของรถตุ๊กตุ๊ก และโมดูลที่สองติดตั้งไว้ในกรอบเหล็กบริเวณที่นั่งคนขับเนื่องจากมีขนาดพื้นที่จำกัด หากวางแบตเตอรี่ที่พื้นคนขับจะทำให้มีพื้นที่วางเท้าน้อยมาก และติดตั้งชุดควบคุมในบริเวณแบตเตอรี่ที่ใต้ที่นั่งคนขับเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา
7 ติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์มอเตอร์และชุดควบคุม แบตเตอรี่ กับรถตุ๊กตุ๊ก
ระบบไฟฟ้าที่นำมาใช้เป็นระบบไฟฟ้าขนาด 72Vสำหรับระบบขับเคลื่อน และต่อผ่านอินเวอเตอร์เพื่อเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าให้เป็น12Vซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำเพื่อใช้ในรถตุ๊กตุ๊ก ทดสอบการทำงานเพื่อสังเกตการทำงานร่วมกันของระบบทั้งหมด ได้แก่ มอเตอร์ ชุดควบคุมมอเตอร์ ล้อ ระบบเบรก ระบบไฟฟ้า
8 เก็บรายละเอียดงานระบบไฟฟ้ารวมทั้งหมด
เมื่อติดตั้งงานระบบไฟฟ้ารวม ทั้งระบบไฟฟ้าหลักเพื่อการขับเคลื่อนและระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ จำเป็นต้องปรับแต่งความยาวของสายไฟทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับโครงสร้างของรถตุ๊กตุ๊ก รวมไปถึงการติดตั้งระบบสวิทช์ หลอดไฟซึ่งจำเป็นต้องจัดสายไฟใหม่ พร้อมทั้งการทดสอบการทำงานของระบบขับเคลื่อน
9 ทำสี และเก็บรายละเอียดงานโครงสร้าง
ถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาเพื่อทำสี โดยเริ่มจาก ขัดสนิม ขัดสีพื้น เตรียมสีพื้น พ่นสีจริง และประกอบชิ้นส่วนต่างๆ กลับเข้าตำแหน่งเดิม พร้อมทดสอบระบบไฟฟ้าขับเคลื่อนและระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำว่าสามารถทำงานตามที่ออกแบบไว้หรือไม่ ตรวจสอบการทำงานของระบบเบรก เบรกมือ และการทำงานในขณะใช้งานจริง
10 ทดสอบใช้งานและเก็บข้อมูลการทดสอบใช้งาน
รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าต้นแบบของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้เปิดตัวในงานปีใหม่ของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ สถานทูตอังกฤษ และได้ทดสอบใช้งานในการวิ่งจริงโดยมีการเก็บข้อมูลทดสอบด้วย Power Analyzerเพื่อคำนวณหาประสิทธิภาพของชุดควบคุมมอเตอร์
11 ดำเนินการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก
ในช่วงทดสอบการใช้งานประมาณ 6เดือน ได้ดำเนินการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก และยังอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ทั้งนี้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบคันนี้สามารถทำความเร็วสูงสุด65 กม./ชม. ระยะทางขับขี่มากสุด 120 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้าหนึ่งครั้ง และใช้เวลาในการอัดประจุไฟฟ้า 6-8 ชั่วโมง
สรุป
ผลการทดสอบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงจากการใช้งานจริง สามารถใช้งานได้ดี ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่การดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพรถเดิมก่อนพิจารณาการดัดแปลงเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก หากสภาพรถตุ๊กตุ๊กเดิมไม่สมบูรณ์จะต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนจำนวนมาก ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการดัดแปลงมาก ต้นทุนงบประมาณในการดัดแปลงจากรถตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ350,000บาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่เกือบทั้งหมด ต้นทุนหลักของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบอยู่ที่แบตเตอรี่และชุดควบคุม ซึ่งมีมูลค่ากว่าสองแสนบาท ส่วนประกอบอื่นๆ และค่าแรงงานรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าดัดแปลงอยู่ที่150,000 บาท หากประกอบเป็นอุตสาหกรรมต้นทุนจะสามารถลดลงได้ถูกกว่านี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยังพร้อมนำไปแสดงสาธิตให้กับผู้ที่สนใจในการศึกษาและสร้างรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า โดยสามารถติดต่อมาที่สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

รูปที่2สภาพหลังการดัดแปลงปรับปรุงจากตุ๊กตุ๊กที่ใช้เครื่องยนต์เป็นไฟฟ้า
ผู้สนับสนุนโครงการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าต้นแบบ
บริษัท-Expique Co.LTD จำกัด, บริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด,ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตุ๊กตุ๊ก 1999, บริษัท นิปปอนเพนท์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท Leabon New Energy จำกัด, คุณบรรจง เยาว์ธานี เอื้อเฟื้อ สถานที่+แรงงาน, อู่ ช.ชนะการช่าง (ebikr.com)เอื้อเฟื้อ แรงงาน สถานที่