รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาประเทศไทยเมื่อไรยังไม่ทราบแน่ชัด เราได้พบภาพเก่าแก่ในขณะที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือพวงมาลัยรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท Carl Oppermann Electric Carriage จำกัดของประเทศอังกฤษ ซึ่งผลิตและส่งมาสยามในปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ.2448)
จากข้อมูลของรถยนต์รุ่นนี้มีมอเตอร์ขนาด 5 แรงม้า และระยะทางวิ่งสูงสุด 50 ไมล์ (80 กิโลเมตร) ความเร็วสูงสุด 14 ไมล์ต่อชั่วโมง (22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) บริษัท Carl Oppermann Electric Carriage จำกัด เป็นบริษัทผู้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าระหว่าง ค.ศ.1898-1907 โดยนาย Carl Oppermann เป็นผู้ริเริ่ม เขาเกิดเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1838 ณ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และย้ายมายังกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในปี ค.ศ.1862 โดยเป็นวิศวกรเครื่องกลและผู้ผลิตนาฬิกาก่อนจะมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท Carl Oppermann Electric Carriage จำกัด ที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัท Baker Electric car จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาจำหน่ายในสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบริษัท Baker Electric car จำกัด ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ Daily Arizona Silver Belt เมื่อปี ค.ศ.1909 ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้บริษัทBaker Electric car จำกัด จัดสร้างรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทรงใช้เป็นพระราชพาหนะในการเดินทางในกรุงเทพฯและปริมณฑล
นอกจากข้อมูลเบื้องต้นในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังไม่ปรากฎข้อมูลการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจนกระทั่ง พ.ศ.2552 (ค.ศ.2009) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ผลิตและวางจำหน่ายรถยนต์โตโยต้ารุ่น Camry Hybrid ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียและใน พ.ศ.2553 (ค.ศ.2010) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรุ่นคือ โตโยต้า Prius 3rd Generation ซึ่งนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่ผลิตรถยนต์โตโยต้ารุ่น Prius และโตโยต้ายังมีรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดรุ่นAlphard Hybrid จำหน่ายในประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายรายที่จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อาทิ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Nissan X-Trail Hybrid) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด (Honda Jazz Hybrid, Honda Civic Hybrid และHonda Accord Hybrid) บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด (BMW ActiveHybrid 3, 5, 7L, BMW i3 และ i8 และ BMW X5 xDrive40e PHEV) บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mercedes-Benz C300 และ E300 BlueTEC Hybrid) บริษัท เลกซัส (ประเทศไทย) จำกัด (Lexus IS, ES, GS, LS, CT และ NX Hybrid) บริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Porscheอย่างเป็นทางการ (Porsche Cayenne S Hybrid และPorsche Panamera S Hybrid) เป็นต้น
นอกจากยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ ปัจจุบันมียานยนต์ไฟฟ้า 2 และ 3 ล้อที่อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา และวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยโดยผู้ประกอบการไทยและต่างชาติหลายราย โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน และสำหรับรถ 3 ล้อไฟฟ้าหรือรถตุ๊กต๊กไฟฟ้ามีการผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย
บรรยายใต้ภาพ
ไฟล์ 1.พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชทรงถือพวงมาลัยรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท Carl Oppermann Electric Carriage จำกัด


เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า
ยานยนต์ไฟฟ้าหมายถึง ยานยนต์ที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือยานยนต์ที่อาศัยเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในมาใช้ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งในส่วนของการขับเคลื่อนและผลิตพลังงานไฟฟ้าเก็บสะสมในแบตเตอรี่ หรือเทคโนโลยีการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์เชิ้อเพลิง เพื่อมาเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน ก็ถือว่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้าด้วย ดังนั้นจึงสามารถแบ่งยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็น 4 ประเภท
ก) ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV)ประกอบด้วยเครื่องยนต์ลูกสูบเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนหลัก ซึ่งใช้เชื้อเพลิงที่บรรจุในยานยนต์และทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังของยานยนต์ให้เคลื่อนที่ ซึ่งทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งยังสามารถนำพลังงานกลที่เหลือหรือไม่ใช้ประโยชน์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่เพื่อจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าต่อไป จึงมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่าปกติ กำลังที่ผลิตจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้อัตราเร่งของยานยนต์สูงกว่ายานยนต์ที่มีเครื่องลูกสูบขนาดเดียวกัน
ข) ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle, PHEV)เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อมาจากยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด โดยสามารถประจุพลังงานไฟฟ้าได้จากแหล่งภายนอก (Plug-in) ทำให้ยานยนต์สามารถใช้พลังงานพร้อมกันจาก 2 แหล่ง จึงสามารถวิ่งในระยะทางและความเร็วที่เพิ่มขึ้นด้วยพลังงานจากไฟฟ้าโดยตรง ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV มีการออกแบบอยู่ 2 ประเภทได้แก่ แบบ Extended range EV (EREV) และแบบ Blended PHEV โดยแบบ EREV จะเน้นการทำงานโดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักก่อน แต่แบบ Blended PHEV มีการทำงานผสมผสานระหว่างเครื่องยานต์และไฟฟ้า ดังนั้นยานยนต์ไฟฟ้าแบบ EREV สามารถวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวมากกว่าแบบBlended PHEV
ค) ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV)เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังให้ยานยนต์เครื่องที่ และใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เท่านั้น ไม่มีเครื่องยนต์อื่นในยานยนต์ ดังนั้นระยะทางการวิ่งของยานยนต์จึงขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดและชนิดของแบตเตอรี่ รวมทั้งน้ำหนักบรรทุก
ง) ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเซลล์เชิ้อเพลิง (Fuel Cell) ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงจากไฮโดรเจน ซึ่งเซลล์เชื้อเพลิงมีค่าความจุพลังงานจำเพาะที่สูงกว่าแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงจึงเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทผลิตรถยนต์เชื่อว่าเป็นคำตอบที่แท้จริงของพลังงานสะอาดในอนาคต อย่างไรก็ดียังมีข้อจำกัดในเรื่องการผลิตไฮโดรเจนและโครงสร้างพื้นฐาน
แหล่งอ้างอิง
[1] บทสรุปผู้บริหาร การศึกษาการพัฒนาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ-ปทุมวัน : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2558