สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ELECTRIC VEHICLE ASSOCIATION OF THAILAND - EVAT·THURSDAY, DECEMBER 8, 2016
มุมมอง ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นจริง..เร็วๆนี้
จากงานวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าของ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล กระทั่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้หยิบยกมาเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอโครงการปฎิรูปพลังงานว่าด้วยเรื่อง “การส่งเสริมการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย” ทำให้ ดร.ยศพงษ์ ได้เข้าไปมีบทบาท ทั้งในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ และเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมทั้งต่อมายังได้ร่วมกับนักวิชาการและผู้ประกอบการยานยนต์ ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ เป็นคนแรก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
บทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
“ผมทำงานวิจัยเรื่องยานยนต์มาเกือบ 15 ปีครับ ตั้งแต่สมัยเรียนระดับปริญญาโทและเอก ณ ประเทศอังกฤษ และทำต่อเนื่องตั้งแต่กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมาผมเริ่มสนใจเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และเริ่มชวนเพื่อนนักวิจัยจากมจธ.และ MTEC เพื่อศึกษานโยบายเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งเราได้ทุนวิจัยนโยบายจากโปรแกรมร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NSTDA และตอนที่เกิดสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้น ทางกรรมาธิการพลังงานก็มีแนวคิดส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และนำงานวิจัยที่เราทำเป็นหนึ่งในข้อมูลการทำให้เกิดข้อเสนอปฏิรูปพลังงานว่าด้วยเรื่อง “การส่งเสริมการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย” และผมก็มีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของอนุกรรมาธิการพลังงานฯ ภายหลังข้อเสนอผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีการจัดทำเสนอให้ทางรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา) เองท่านน่าจะมีความสนใจและมีมุมมองเรื่องนี้อยู่แล้วซึ่งทราบว่าท่านมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ตอนนั้นมีโอกาสช่วยให้ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พอภายหลังมีสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจัดตั้งขึ้นเป็นทางการ ผมก็เริ่มเขาไปทำงานในฐานะนายกสมาคมฯและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ อนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน หรือ Supercluster ของกระทรวงอุตสาหกรรม คณะทำงานศึกษาและจัดทำแผนพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นต้น
เพื่อสนับสนุนให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง จึงก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย?
“เมื่อประมาณช่วงสิงหาคมปีที่แล้ว ภาคเอกชนกับนักวิชาการ มีแนวคิดว่าควรจะมีสมาคมขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการใช้ การผลิต การวิจัย เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นทั้งจากกลุ่มนักวิชาการ เอกชน ผู้สนใจทั่วไป เข้ามารวมตัวคุยกันและหาเป้าหมายของสมาคม ซึ่งตกลงกันในช่วงเริ่มตั้งต้นว่าเรามีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในประเทศไทยของเราโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ที่จะมีปัญหาในเรื่องมลพิษจากเครื่องยนต์และยังเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพราะยานยนต์ไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่ายานยนต์เครื่องยนต์ อีกอย่างเรามีการประชุมก่อนหน้ากันอยู่ 2 ครั้ง จนได้มีกรรมการชุดก่อตั้งและผมได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมชุดก่อตั้ง จากนั้นเราจัดตั้งสมาคมฯอย่างเป็นทางการเสร็จในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ในสมาคมมีกลุ่มเอกชนจากหลายประเภทธุรกิจทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า หรือจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนและยังมีผู้ประกอบกลางขนาดกลางและเล็ก (SME) อีกส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการอาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมครับ และเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมานี้ เรามีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการเลือกกรรมการชุดใหม่และผมได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมและถือว่าเป็นสมัยแรกนะครับ มีวาระการทำงาน 2 ปี”

สมาคมฯ มีแนวทางหรือวางบทบาทในการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร
“สมาคมฯประกอบไปด้วยสมาชิก กรรมการมาจากเลือกตั้งของสมาชิกและนายกสมาคมมาจากเลือกตั้งของกรรมการ โดยแนวทางการดำเนินงานกรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่ที่ชัดเจนและต้องทำงานร่วมมือกันระหว่างกรรมการและสมาชิก ในการทำงานตอนนี้เราแบ่งเป็น 4 ฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายที่ 1 คือฝ่ายวิชาการ ฝ่ายที่ 2 คือฝ่ายวิจัย ฝ่ายที่ 3 ฝ่ายอุตสาหกรรม โดยมีคณะทำงาน (working group) 2 คณะ ได้แก่ WG1 คณะทำงานข้อมูลการผลิตและนโยบายอุตสาหกรรม และ WG2 คณะทำงานข้อบังคับและมาตรฐาน ส่วนฝ่ายที่ 4 คือฝ่ายส่งเสริมการใช้มีอีก 2 คณะทำงาน ได้แก่ WG3 คณะทำงานข้อมูลผู้ใช้และส่งเสริมการใช้ และWG4 คณะทำงานประชาสัมพันธ์และรณรงค์การใช้ โดยการทำงานของทุกฝ่ายและคณะทำงานจะไม่ใช่แค่กรรมการเท่านั้นแต่สมาชิกก็เข้ามามีส่วนร่วมในคณะทำงานด้วย ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และที่สำคัญเราพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐด้วยอยู่แล้ว เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องทำงานร่วมกัน อันที่จริงผมมองว่าเราไม่ควรจะแยกว่าอันนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน หรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่าสมาคมต้องทำงานกับภาครัฐได้ เช่น ในส่วนของการส่งเสริมให้เกิดการใช้ ทางสนพ.ได้ให้ความไว้วางใจทางสมาคมฯดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งได้รับสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยจะมีส่งเสริมให้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 หัวจ่าย ซึ่งทางสมาคมฯจะทำหน้าที่บริหารโครงการและกลั่นกรองผู้สมัครที่มาขอรับการสนับสนุน และเสนอให้กรรมการขับเคลื่อนพิจารณา สมาคมฯมีทำงานกับนักวิชาการจากทุกสถาบันได้ เช่น การจัดประชุมวิชาการประจำปีด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรือ iEVTech เราเชิญอาจารย์และนักวิจัยจากต่างประเทศและภายในประเทศมานำเสนอผลงาน ในอนาคตเราอยากเห็นการประชุมวิชาการแบบเต็มรูปแบบเลย จะให้นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอผลงาน ทั้งปริญญาโท ปริญญาเอก หรือปริญญาตรีก็ได้ เรามีการจัดทำนิทรรศการยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งสมาคมเราจะเชิญสมาชิกให้นำยานยนต์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดง มาให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ผมมองว่าถึงแม้ว่าเราจะมีการทำงานวิจัย มีผู้ผลิต แต่ว่าประชาชนหรือผู้ใช้ไม่รู้จักยานยนต์ไฟฟ้า ไม่เห็นความสำคัญถึงประโยชน์ เขาก็จะไม่ซื้อมาใช้ พอไม่ซื้อมันก็ไม่เกิดการใช้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือ ต้องมีการวิจัย มีอุตสาหกรรมผู้ผลิต มีผู้ใช้ ต้องควบคู่ไปพร้อมกันเสมอ และประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด”

กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.2ล้านคันในปี 2579 คิดว่ามีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด?
“ในส่วนของกระทรวงพลังงานหมายถึงรถยนต์ที่เป็น Plug-in EV คือ รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน ซึ่งเป็นไปตามกระแสหลักของโลก (Mega Trend) ซึ่งผมมองว่าตัวเลข 1.2 ล้านคัน มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงและอาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ ที่มีโอกาสสูงเพราะว่าภาครัฐส่งเสริม เอกชนก็มีพร้อมที่จะลงทุน พัฒนาตัวรถยนต์ เรามีเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องของสถานีประจุไฟฟ้า เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นไปได้เลย ที่สำคัญจะทำยังไงให้ประชาชนได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ในอนาคตในราคาที่เหมาะสม เพราะในช่วงต้นต้องบอกว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาแพงอยู่มาก ไม่ว่าจะประเภทไหนเพราะเป็นเรื่องต้นทุนแบตเตอรี่ที่สูง และรถยนต์ไฟฟ้ายังมีการผลิตที่น้อยเพราะยังเป็นตลาดเฉพาะ แต่หวังว่าภายใน 5-10 ปี เนี่ยราคาจะลดลงมากกว่านี้ คล้ายกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ จากที่ใหญ่ๆ ก็ค่อย ๆ เล็กลงเป็นสมาร์ทโฟน ดังนั้นผมคิดว่า 1.2 ล้านคัน มันเป็นไปได้ ในอีก 15 ปี ข้างหน้า”
คิดว่าจะได้เห็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงๆ ในประเทศไทย เมื่อใด
“ผมคิดว่าแทบทุกค่ายรถในประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบและมีบางบริษัทที่กำลังวางแผนการจำหน่ายและการผลิตในประเทศไทยครับ มีบริษัทเกิดใหม่ เช่น บริษัท FOMM จากประเทศญี่ปุ่น มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กต้นแบบและจะมาผลิตในประเทศไทยภายในปีหน้า ในช่วงเริ่มต้นอาจจะมีไม่กี่บริษัทหรือรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าที่นำจำหน่ายให้ประชาชน แต่ผมคิดว่าเมื่อเกิดความนิยมการบริโภคมากขึ้นบริษัทต่าง ๆ ก็คงจะนำมาจำหน่ายมากขึ้น ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่นการช่วยลดภาษีนำเข้าและเชื่อมต่อด้วยมาตรการการส่งเสริมการลงทุนการผลิตในประเทศ ผมเชื่อว่าจะได้เห็นจำนวนรุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินมากขึ้นภายในปีนี้หรือต้นปีหน้า” ที่มา วารสาร รักษ์พลังงาน ปี 13 ฉบับที่ 118 เดือนตุลาคม 2559 หน้า 22-25 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หมายเหตุ แก้ไขคำผิดจากฉบับจริง “Plug-in Hybrid” เป็น “Plug-in EV”
ที่มา วารสาร รักษ์พลังงาน ปี 13 ฉบับที่ 118 เดือนตุลาคม 2559 หน้า 22-25 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
หมายเหตุ แก้ไขคำผิดจากฉบับจริง “Plug-in Hybrid” เป็น “Plug-in EV”